Skip to content

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) อาการ สาเหตุ

โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคของหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ หรือ โรคหลอดเลือดโคโรนารี (ภาษาอังกฤษ : Coronary artery disease : CAD หรือ Coronary heart disease : CHD) คือ โรคที่เกิดจากการเกาะของไขมันภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงหรืออุดตันจนปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง หากเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเพียงชั่วขณะ ซึ่งจะเป็น ๆ หาย ๆ เวลามีสาเหตุมากระตุ้นให้กำเริบ แต่ถ้าเกิดมีลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดหัวใจก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งถือเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างกะทันหัน

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) อาการ สาเหตุ

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) อาการ สาเหตุ

โรคหลอดเลือดหัวใจจัดเป็นโรคของผู้ใหญ่ที่พบได้ตั้งแต่คนวัยหนุ่มสาวไปจนถึงผู้สูงอายุ เป็นโรคที่มักพบได้มากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะมีอาการกำเริบเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป (มักไม่พบในผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน) ในช่วงวัยเจริญพันธุ์นี้จะพบโรคนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่หลังจากวัยหมดประจำเดือนไปแล้วทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน โรคนี้พบได้มากในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีอายุมาก สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ คนที่อยู่ดีกินดี คนที่มีอาชีพทำงานนั่งโต๊ะ และคนที่อาศัยอยู่ในเมืองจึงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนยากจน คนที่มีอาชีพใช้แรงงาน และคนที่อาศัยอยู่ในชนบท หมายเหตุ : โรคหัวใจ (Heart disease) มีอยู่ด้วยกันหลายโรค แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้สูงติด 1 ใน 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยคือ “โรคหลอดเลือดหัวใจ” ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงโรคหัวใจมักจะหมายถึงโรคนี้

สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • โรคนี้มีสาเหตุมาจากผนังหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัวขึ้น (Atherosclerosis) ซึ่งเกิดเนื่องจากการมีไขมันไปเกาะอยู่ภายในผนังหลอดเลือด เรียกว่า “ตะกรันท่อหลอดเลือด” (Artherosclerotic plaque) ซึ่งจะค่อย ๆ พอกหนาตัวขึ้นทีละน้อยจนช่องทางเดินของเลือดตีบแคบลง เลือดจึงไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง และในขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้นในการเผาผลาญให้เกิดพลังงานเพื่อใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ (เช่น ในขณะที่ออกแรงมาก ๆ ในการทำงานหรือเคลื่อนไหวร่างกาย
  • หรือเมื่อมีอารมณ์รุนแรงหรือมีความเครียดสูง) หรือในขณะที่มีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง (เช่น หลอดลือดหดตัวในขณะที่สูบบุหรี่หรือจากการมีความเครียดสูง เลือดไปเลี้ยงกระเพาะอาหารจำนวนมากหลังรับประทานข้าวอิ่มจัด ๆ หรือเมื่อเสียเลือดหรือโลหิตจาง) ผู้ป่วยก็จะเกิดอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วขณะ แต่เมื่อขจัดสาเหตุดังกล่าวออกไป (เช่น กำจัดความเครียด หยุดการใช้แรงและสูบบุหรี่) อาการเจ็บหน้าอกก็จะทุเลาไปเอง
  • ซึ่งเราเรียกภาวะดังกล่าวนี้ว่า “โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ” (Angina pectoris) หากปล่อยไว้นาน ๆ ตะกรันท่อหลอดเลือดที่เกาะอยู่ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจจะเกิดการฉีกขาดหรือแตกออก เกล็ดเลือดก็จะจับตัวกันจนกลายเป็นลิ่มเลือดและอุดกั้นช่องทางเดินของเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่เป็นเวลานานจนเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยจึงเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินและเป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างเฉียบพลันได้ เรียกว่า “โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” (Acute myocardial information) ในช่วงแรกที่ร่างกายยังสามารถปรับตัวได้ ตะกรันท่อหลอดเลือดที่ใหญ่ขึ้นนั้นจะยังไม่ทำให้เกิดอาการแต่อย่างใด
  • เพราะหลอดเลือดของเรายังสามารถขยายออกทางด้านนอกได้ ซึ่งในระยะนี้การวินิจฉัยจะมีเพียงวิธีเดียวคือการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงเพื่อดูความหนาตัวของผนังหลอดเลือด แต่เมื่อผ่านไปจนร่างกายของเราไม่สามารถปรับตัวหรือขยายออกทางด้านนอกได้แล้ว ตะกรันท่อหลอดเลือดที่ใหญ่ขึ้นก็จะขยายเข้าไปในท่อของหลอดเลือด เมื่อโตมากขึ้น ๆ จนรูของท่อหลอดเลือดเหลือน้อยกว่า 50% ก็จะทำให้ความเร็วของเลือดเพิ่มขึ้น
  • เมื่อเลือดไหลเวียนอย่างรวดเร็วไปกระแทกผนังหลอดเลือดและตะกรัน ก็จะทำให้พังผืดที่หุ้มตะกรันเกิดการฉีกขาดหรือแตกออก เกิดเลือดออกในตะกรัน เมื่อเลือดออกเกิดแผลขึ้นก็จะเกิดเป็นก้อนเลือด ถ้าก้อนเลือดอยู่กับที่ไม่ไปไหนก็จะมีพังผืดมาหุ้มไว้ไม่หลุดไปไหน แต่ถ้าก้อนเลือดเกิดไหลไปอุดตันตามอวัยวะต่าง ๆ ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ หรือถ้าโชคดีอาจยังไม่เกิดเรื่อง ตะกรันจะค่อย ๆ โตขึ้นเรื่อย ๆ จนไปทำให้ขนาดของท่อหลอดเลือดเล็กลงมากจนตันได้เช่นกัน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ ได้แก่

  1. ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ เพราะการมีไขมันในเลือดที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ซึ่งในที่นี้ก็คือไขมันเลว (LDL) ที่เป็นตัวการปิดกั้นหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ (ส่วนไขมันดี (HDL) นั้นจะทำหน้านำไขมันเลวออกจากเซลล์ต่าง ๆ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้)
  2. โรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากถึง 2 เท่า เพราะระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจะส่งผลให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำให้เซล์เยื่อบุภายในหลอดเลือดทำงานผิดปกติ เป็นปัจจัยทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและหนาขึ้น ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเสื่อมสภาพและถูกทำลาย และมีผลต่อการปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด จนก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้
  3. โรคความดันโลหิตสูง เพราะความดันโลหิตที่สูงจะส่งผลทำให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ (ภาวะความดันโลหิตสูงมีเกณฑ์ในการวินิจฉัย คือ มีค่าสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท) ทั้งนี้พบว่าการรับประทานเกลือโซเดียมมากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้นด้วย และโรคความดันโลหิตสูงยังมักเกิดร่วมกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น เบาหวานและไขมันในเลือดสูง
  4. ภาวะหลอดเลือดอุดตัน (Thrombosis) เพราะเป็นภาวะที่เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มหรือก้อนในหลอดเลือดหรือเส้นเลือดใหญ่ หากภาวะนี้เกิดขึ้นในหลอดเลือดหัวใจก็จะทำให้หลอดเลือดตีบและขัดขวางการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจในการสำรองเลือดได้ จึงอาจส่งผลต่อภาวะหัวใจวาย
  5. ภาวะน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน (โดยเฉพาะในผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร) เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง การปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือการมีดัชนีมวลกายที่มากขึ้นจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  6. ความเครียด ปัจจัยด้านความเครียดที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ สภาพจิตที่โศกเศร้าเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานานและยังไม่สามารถจัดการกับสาเหตุของความเครียดนั้นได้, ภาวะเก็บกดด้านอารมณ์, ขาดการเชื่อมสัมพันธ์และแรงสนับสนุนทางสังคมและครอบครัว, ความรู้สึกไม่เป็นมิตร และการคิดว่าตนเองมีปมด้อยเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม โดยภาวะความเครียดจะส่งผลทำให้หลอดเลือดต่าง ๆ โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองบีบหดตัว ทำให้ช่องในหลอดเลือดตีบแคบลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจและเซลล์สมองขาดเลือดได้
  7. การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ รวมถึงผู้ที่เคยสูบบุหรี่ติดต่อกันมาเป็นเวลานานและเพิ่งหยุดสูบได้ไม่นาน ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ และผู้ที่บริโภคยาสูบแบบไม่มีควัน (เช่น ยาเส้น ยาฉุน) จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2.4 เท่า เพราะสารพิษในบุหรี่จะไปทำลายเซลล์ของหลอดเลือดโดยตรงจึงมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค เช่น สารนิโคตินเป็นตัวขัดขวางการไหลเวียนของเลือด กระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และยังไปทำลายเยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในของหลอดเลือดแดง, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นตัวทำลายคุณสมบัติในการเป็นพาหะนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้เท่าเวลาปกติ จึงเกิดการขาดออกซิเจน เป็นผลทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น, ก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์เป็นตัวทำให้หลอดเลือดแดงแข็ง นอกจากนี้ควันบุหรี่ยังทำให้เกล็ดเลือดเกาะกันมากขึ้น ทำให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มหรือก้อนได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบหรืออุดตันได้
  8. การขาดการออกกำลังกาย เพราะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอ้วน โดยพบว่าผู้ที่ไม่มีกิจกรรมทางกายหรือไม่ออกกำลังกายจะทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า
  9. โการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์และมีไขมันสูง ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายรวมทั้งของหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะในผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีรสหวาน อาหารที่มีไขมันและแคลอรีสูง แต่รับประทานผักและผลไม้ในแต่ละวันน้อยเกินไป ซึ่งล้วนเป็นผลที่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
  10. อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ชายที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 55 ปี และในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปี เพราะเมื่อมีอายุมากขึ้นก็จะเกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดเพิ่มขึ้น
  11. พันธุกรรม (ประวัติคนในครอบครัว) เพราะพบโรคนี้ได้สูงกว่าในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ กล่าวคือ หากมีบุคลในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็จะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผู้มีที่ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดขึ้นก่อนวัยอันควรอีกด้วย (เกิดก่อน 55 ปีในผู้ชาย หรือ 65 ปีในผู้หญิง)
  12. เพศชาย เพราะในช่วงวัยเจริญพันธุ์จะพบโรคนี้ในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง แต่หลังจากวัยหมดประจำเดือนไปแล้วทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน
  13. สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อย เช่น ภาวะมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ (มากกว่าหรือเท่ากับ 30 มิลลิกรัมต่อวัน), ภาวะโฮโมซิสตีนในเลือดสูง, การบาดเจ็บ, ยาเสพติด (โคเคน ยาบ้า ซึ่งทำให้หลอดเลือดหัวใจหดเกร็งรุนแรง), การติดเชื้อหรือการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ, การหดเกร็งของหลอดเลือดหัวใจ, หลอดเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด